SMART PHARMACY
โครงการห้องจ่ายยาอัจฉริยะ
“จุดให้บริการในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ที่ผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการ ต้องเสียเวลา และใช้เวลาในการรอคอยนานที่สุดอีกจุดหนึ่ง คือ “ห้องจ่ายยา” ผู้ใช้บริการจึงไม่ได้รับความสะดวกสบาย และเสียเวลาไปโดยไม่จำเป็น การอัปเกรดให้ห้องจ่ายยาเป็น “Smart Pharmacy” ที่ทำงานได้เร็วขึ้น จ่ายยาได้เร็ว ถูกต้อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
สร้างความประทับใจให้ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ที่มาโครงการวิจัย
แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 13,364 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 34.7 หากเป็นโรงพยาบาลในสังกัดรัฐ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และ กทม. มีจำนวนเพียง 294 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 0.7% เท่านั้น ทำให้ปัจจุบัน การให้บริการของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ เนื่องจากข้อจำกัดของบุคลากร และกระบวนการทำงานในแต่ละแผนก หนึ่งในแผนกที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการรอรับบริการนานที่สุด คือ ห้องจ่ายยา ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการรอยานานหลักชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล และผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น
ทีมวิจัยศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) จึงศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา โดยมุ่งเน้นไปที่ “ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก” ซึ่งเป็นจุดให้บริการที่พบปัญหาลูกค้าใช้เวลารอคอยการให้บริการนาน และเป็นจุดที่สามารถพัฒนาได้ด้วยการนำเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติในงานโลจิสติกส์มาใช้ภายในโรงพยาบาล อัปเกรดห้องจ่ายยาของโรงพยาบาล ให้เป็นห้องจ่ายยาอัจฉริยะ “Smart Pharmacy” โดยคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับโรงพยาบาลในแผนกเภสัชหรือแผนกจ่ายยา เพื่อช่วยลดระยะเวลารอคอย สร้างความพึงพอใจของผู้เข้ามารับการรักษา และเป็นส่วนสำคัญในการสะท้อนคุณภาพของการให้บริการของโรงพยาบาล
แนวทางการพัฒนา Smart Pharmacy
การพัฒนาและสร้าง Smart Pharmacy ไม่เพียงมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ ลดภาระงานให้กับบุคลากรได้เท่านั้น หากก่อนที่จะเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับห้องยาของแต่ละโรงพยาบาลได้ จะต้องอาศัยการนำโลจิสติกส์เข้ามาประกอบ เพื่อวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการด้านโลจิสติกส์ของห้องจ่ายยาแบบละเอียดและเจาะลึก ข้อมูลด้านโลจิสติกส์เหล่านี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปวิเคราะห์เลือกใช้เทคโนโลยีประเภทใด ใช้งานลักษณะไหน และจำนวนเท่าไหร่ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทีมวิจัยต้องวิเคราะห์ และเจาะลึกอย่างละเอียด เพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล โรงพยาบาลได้ประโยชน์จริง และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วย หรือผู้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลได้จริง