PHARMASIM
โครงการแบบจำลองและแบบพิมพ์เขียวสำหรับการจัดยาเภสัชกรรมอัตโนมัติ
“การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในงานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกอย่างเหมาะสม เป็นโซลูชันที่จะพลิกวิกฤตด้านบริการของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ให้เป็นโอกาสได้ทันที เพราะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคอยรับยานานเกินจำเป็น ทั้งยังสร้างกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และขจัดความสูญเปล่าออกไปได้หมด”
ที่มาโครงการวิจัย
งานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ กำลังเผชิญปัญหาความแออัดของผู้ป่วยที่มารับบริการ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา หรือมาใช้บริการมากกว่า 1,000 รายต่อวัน มีปริมาณยาที่ต้องใช้มากกว่า 1,000 รายการ หรือมากกว่า 3,000 SKUs ทำให้เภสัชกร 1 คน ต้องมีภาระงานมากกว่า 100 ใบงานต่อวัน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ ยังส่งผลต่อกระบวนการจ่ายยาผู้ป่วยนอก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการรอรับรับยาเพียงอย่างเดียว นานถึง 120 นาที หรือ ราว 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ความล่าช้าในการรอยาของผู้ป่วย ยังเป็นผลมาจากความคลาดเคลื่อนในการคาดการณ์ยาคงคลัง ซึ่งต่ำกว่าความต้องการที่แท้จริง
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมโลจิสติกส์ และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงร่วมกันศึกษาแนวทางแก้ปัญหา และปฏิรูปกระบวนการจ่ายยาผู้ป่วยนอก ให้มีประสิทธิภาพแบบยั่งยืน โดยการนำ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร” เข้ามาใช้ แต่ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้งาน จะต้องมีการวิเคราะห์ ศึกษาข้อจำกัดของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทั้ง กำลังคน วิธีการทำงานของบุคลากร พื้นที่ทำงาน ปริมาณและประเภทของยา และงบประมาณของโรงพยาบาล ด้วยการทำ “แบบจำลองและแบบพิมพ์เขียวสำหรับการจัดยาเภสัชกรรมอัตโนมัติ” โดยแบบจำลองและแบบพิมพ์เขียวฯ นี้ จะแสดงกระบวนการทำงานอย่างละเอียดของส่วนงานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก และขยายภาพให้เห็นข้อจำกัด ปัญหา และกระบวนการที่มีความสูญเสีย รวมถึงภาพรวมของสถานที่ และสภาพแวดล้อมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก แบบจำลองและแบบพิมพ์เขียวฯ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสามารถตัดสินใจลงทุนหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลมากที่สุด
แนวทางการดำเนินงาน
ทีมวิจัยฯ นำข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของ(ใบ)ยา ที่บันทึกผ่านระบบ ERP ของโรงพยาบาล มาศึกษาและวิเคราะห์ช้อมูลด้านโลจิสติกส์ของ(ใบ)ยา ก่อนนำผลการวิเคราะห์มากำหนดคุณลักษณะสำคัญสำหรับการออกแบบ แบบจำลองระบบการจัดยาอัตโนมัติ และ ระบบการจัดยากึ่งอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาสร้างแบบพิมพ์เขียวสำหรับการจัดยาเภสัชกรรมอัตโนมัติ ทั้งนี้แบบพิมพ์เขียวสำหรับการจัดยาเภสัชกรรมอัตโนมัติ ช่วยในการตัดสินใจในการลงทุนของโรงพยาบาล และการตัดสินใจในการสร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแบบครบวงจรของนักบูรณาการระบบ
ทั้งนี้โครงการแบบจำลองและแบบพิมพ์เขียวสำหรับการจัดยาเภสัชกรรมอัตโนมัติ ได้ โรงพยาบาลต้นแบบ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นโรงพยาบาลในการศึกษาและพัฒนาแบบจำลองและแบบพิมพ์เขียวสำหรับการจัดยาเภสัชกรรมอัตโนมัติ เพื่อนำงานวิจัยไปต่อยอดสู่การปฏิรูป และพัฒนางานเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกให้กับโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ และนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาศักยภาพการให้บริการผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น